บทความยอดนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เครื่องขยายเสียงคลาสดี(Class D)

เมื่อยุคของความเป็นดิจิตอลได้เกิดขึ้น สิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ต่างก็พยายามปรับปรุงตัวเองจากรูปแบบอะนาล็อกมาเป็นดิจิตอล ด้วยเหตุผลทางการตลาด แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด และปัจจุบันก็ยังคงมีอุปกรณ์บางอย่างที่ยังคงจำเป็นต้องใช้ในรูปแบบอะนาล็อกอยู่


หากพูดถึงเครื่องเสียง และเน้นเกี่ยวกับเครื่องขยายเสียงไม่ว่าภายในบ้านหรือกลางแจ้ง ต่างก็มีการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของดิจิตอลกันมากขึ้น เนื่องจากแหล่งสัญญาณก็เป็นดิจิตอลกันหมดแล้ว เช่น เครื่องเล่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นMP3 โทรศัพท์ เป็นต้น
การพัฒนาคลาสของเครื่องขยายเสียงก็พัฒนามาจนถึงขั้นที่เรียกว่าใกล้เป็นดิจิตอลเต็มตัวแล้ว(90%)ในบทความที่แล้ว(คลาสต่างๆของวงจรขยายเสียง )ได้พูดถึงเครื่องขยายเสียงคลาสเอบีเป็นเรื่องล่าสุด แต่นั่นก็ยังถือว่ายังไม่ก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลเลยแม้แต่น้อย คลาสที่พัฒนาต่อจากคลาสเอบีซึ่งได้แก่ คลาสจี(G) คลาสเอช(H) ตามลำดับ ก็เป็นการพัฒนาทางขุมพลังงานให้ทำงานสัมพันธ์กับกำลังงานที่ต้องการใช้ หรือพูดได้ว่าหากสัญญาณแรงมากขึ้น ภาคจ่ายไฟก็จ่ายกระแสหรือแรงดันมากขึ้นนั่นเอง ก็ยังถือว่าผู้ผลิตยังไม่คิดจะก้าวเข้าสู่โลกของระบบดิจิตอล แต่คลาสที่เข้าสู่โลกของระบบดิจิตอลเห็นจะเป็นคลาสที่เรียกว่า คลาสดี(D) ได้นำหลักการอันเก่าแก่มาปัดฝุ่นก็ว่าได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวได้คิดค้นออกมานานแล้ว แต่มันไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากความเพี้ยนของมันมีมากนั่นเอง
คลาสดี(D)
เครื่องขยายเสียงคลาสดี มีลักษณะอย่างไร
เครื่องขยายเสียงคลาสดี เป็นการผสมผสานระหว่างอะนาล็อคและดิจิตอลหรือกล่าวได้ว่า เป็นดิจิตอลไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นนั่นเอง เนื่องจากกระบวนการทางด้านสัญญาณยังใช้รูปแบบของอะนาล็อคในบางส่วน(ข้อมูลปี 2551) เช่น การใช้สัญญาณฟันเลื่อยในการแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณพัลซ์วิดมอด หรือ สัญญาณพัลซ์ที่ปรับค่าคาบเวลาได้นั่นเอง (ในความเห็นของผู้เขียน คำว่า "ดิจิตอล" ต้องเป็นค่า ตรรกะ คือ "1" กับ "0"หรือ Hi-Low และมีค่าคาบเวลาที่คงที่ โดยมีสัญญาณนาฬิกาหลักเป็นตัวอ้างอิงในกระบวนการประมวลผล)
เมื่อได้สัญญาณพัลซ์ออกมาแล้ว ก็นำไปขยายให้ใหญ่ขึ้นอีกที แล้วทำการกรองความถี่สูงออกและดึงเอาเฉพาะความถี่ที่ใช้งานออกสู่ลำโพง นี่เป็นหลักการโดยรวม ซึ่งก็ยังมีรูปแบบของการทำงานของอะนาล็อกอยู่นั่นเอง ส่วนรูปแบบดิจิตอลเต็มๆเห็นจะเป็นส่วนของการ ลด-เพิ่ม ของขนาดสัญญาณที่ควบคุมจากไมโครคอมพิวเตอร์ การแสดงผลทางจอแสดงผล การควบคุมสั่งงาน เป็นต้น รูปแบบของ วงจรขยายเสียงคลาสดี แสดงเป็นไดอะแกรมแบบคร่าวๆดังรูปตัวอย่าง




รูปที่1.
ไดอะแกรมวงจรเครื่องขยายเสียงคลาสดี ของแอมป์ยี่ห้อหนึ่ง

ปัจจุบันการจัดวงจรขยายเสียงในคลาสดี(D)ได้พัฒนาให้ดีขึ้นมาก จึงได้นำมาใช้กันมากขึ้นทั้งเครื่องเสียงกลางแจ้งและเครื่องเสียงภายในบ้านอาทิเช่น JVC และ PIONEER เป็นต้น
เครื่องขยายเสียงดิจิตอลที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในความคิดและอุดมคติของผู้เขียนนั้น เครื่องขยายเสียงดิจิตอลนั้นต้องมีการประมวลผลหรือมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบดิจิตอลตั้งแต่ต้นจนจบ นั่นคือสามารถรับสัญญาณจากแหล่งสัญญาณเสียงที่เป็นดิจิตอลได้เป็นหลัก รองลงมาก็เป็นแบบอะนาล็อก เช่น ต้องมีช่องต่อที่เป็นแบบ coaxial หรือแบบ Optical เป็นต้น และกระบวนการทางการขยายสัญญาณก็ควรเป็นรูปแบบการขยายทางข้อมูล(ประมาณเดียวกันกับระบบขยายภาพดิจิตอลที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายรูปดิจิตอล) แล้วนำมาแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาล็อกที่ภาคสุดท้ายไปเลย ผู้เขียนไม่ทราบเช่นกันว่ากระบวนการดังข้างต้นที่กล่าวมา วิศวกรเคยทดลองออกแบบมาแล้วหรือยัง หรือว่าทดลองออกแบบมาแล้วใช้ได้ไม่ดี หรือว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้เขียนก็ไม่มีความรู้ถึงขนาดออกแบบเองได้
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้ชื่นชอบเครื่องเสียงยี่ห้อหนึ่งที่มีรูปแบบเป็นแอมป์ดิจิตอล แต่ยังไม่ได้ศึกษาลึกขนาดที่ว่ามันเป็นแอมป์ดิจิตอลแท้จริงหรือไม่ เครื่องเสียงดังกล่าวก็คือยี่ห้อ NAD นั่นเอง ผู้อ่านลองไปศึกษาเครื่องเสียงยี่ห้อนี้ดูเอาเองแล้วกันครับ