บทความยอดนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Accuphase E560 เครื่องขยายเสียงคลาสเอ

Accuphase E560เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่น่าสนใจสำหรับผู้เขียนมาก ที่จะหยิบยกมานำเสนอให้ผู้อ่านได้ชม ถึงแม้ว่า E560 จะเป็นแอมป์ที่ออกจำหน่ายมานานแล้ว มันถูกออกแบบมาได้อย่างน่าทึ่ง เนื่องจากในตอนนั้นแอมป์แบบ 2 แชนแนลทั่วไปจะยังคงไม่เน้นรูปแบบการใช้งานที่ควบคุมด้วยระบบดิจิตอลเท่าใด นัก ยกเว้นเครื่องเสียงประเภทคอมโพเนนท์และโฮมเธียเตอร์ แต่ E560 ตัวนี้ ดูคลาสสิกและทันสมัยมาก


จุดเด่นที่มันทันสมัย ไม่ได้อยู่ที่การควบคุมด้วยระบบดิจิตอล แต่รูปแบบการทำงานของมันถูกออกแบบมาได้ยอดเยี่ยมมากๆ เริ่มตั้งแต่ระบบควบคุมขนาดสัญญาณทางด้านอินพุตที่เรียกว่า AAVA Volume Control ซึ่งมีคุณสมบัติที่ไม่ทำให้สัญญาณทางอินพุตถูกบั่นทอนคุณภาพด้วยค่าความต้าน ทาน เพราะมันทำงานอยู่ในรูปแบบคล้ายๆดิจิตอล โดยจะแปลงสัญญาณที่เป็นแรงดันให้กลายเป็นกระแส(V-I converter) แล้วนำไปควบคุมด้วยหน่วยประมวลผลกลางอีกที จากนั้นก็นำกระแสมารวมกันแล้วแปลงกลับคืนในรูปแบบของแรงดันอีกครั้ง มันจึงไม่ถูกลดทอนด้วยค่าความต้านทานเลยแม้แต่นิด ค่า S/N จึงมีค่าที่สูง นอกจากนี้การออกแบบวงจรอย่างนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า การรบกวนข้ามแชนแนลได้เลย เนื่องจากไม่ได้ใช้ตัวต้านทานปรับค่า เป็นตัวควบคุม Balance Control เหมือนกับเครื่องขยายเสียงทั่วไปใช้กัน


 จุดเด่นต่อมา เป็นเรื่องของการออกแบบวงจรภาคขยายสัญญาณ มีเทคนิคแบบหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นแล้วก็ต้องบอกว่า คิดได้อย่างไร โดยหลักการตามปกติเครื่องขยายเสียงคลาสเอนั้น จะมีอัตราขยายทางสัญญาณต่ำมาก การออกแบบให้ได้วัตต์สูงๆ เป็นการยากมาก เนื่องจากต้องออกแบบให้ขยายสัญญาณทั้งรูปสัญญาณด้วยทรานซิสเตอร์เพียงตัว เดียว รูปสัญญาณจึงไม่มีรอยต่อระหว่างซีกบวกกับซีกลบ  เทคนิคที่พูดถึงนี้ก็เป็นหลักการพื้นๆที่เราคาดไม่ถึงกันนั่นเอง ทาง Accuphase เรียกเทคนิคนี้ว่า MCS+ ย่อมาจาก Multiple Circuit Summing-up น่าจะแปลว่า การใช้วงจรหลายๆวงจรมารวมกัน ทำงานแบบขนาน



  จากการพิจารณาวงจรแบบคร่าวๆตามตัวอย่างแล้ว วงจรขยายสัญญาณจะถูกจัดให้ขยายหลายๆสเต็ป เพื่อให้ได้ค่าอัตราขยายที่สูงขึ้น และทำงานแบบวงจรสมมาตร (แต่ไม่ได้ทำงานแบบครึ่งซีกสัญญาณเหมือนวงจรคอมพลิเมนตารี่) มีด้วยกัน 4ชุดต่อแชนแนล แล้วนำสัญญาณมารวมกัน ก่อนส่งให้ภาคขยายกำลังภาคสุดท้ายขยายสัญญาณส่งให้ลำโพง
 ในเชิงลึกผู้เขียนไม่ทราบรายละเอียด หากข้อมูลผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย




 จุดเด่นที่น่าสนใจอีกอย่าง เป็นออฟชั่น ซึ่งเป็นออฟชั่นเสริมสำหรับผู้ที่ต้องการรับฟังจากสื่อดิจิตอล โดย E560 มีช่องต่อบอร์ดพิเศษอยู่สองช่อง เป็นช่องใส่บอร์ด DAC (รุ่นที่ใช้คือ DAC20 สำหรับCoaxial และOptical , AD20 สำหรับเครื่องเล่นแผ่นแบบอะนาล็อก) มันเท่ห์ตรงนี้แหละสำหรับช่วงเวลานั้น



 จุดเด่นสุดท้ายที่ จะกล่าวถึง มันไม่แปลกอะไรมากมาย แต่ถ้าใครเห็นแล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการปลดปล่อยพละกำลังของแอมป์ตัวนี้ เลย แม้ว่ามันจะให้กำลังวัตต์เพียง ข้างละ 30 วัตต์(rms) ที่ 8 โอห์มเท่านั้น ขุมพลังอันมหึมานี้ก็พร้อมที่รองรับการดึงกระแสในสภาวะสงบแต่ก็มากมายมหาศาล ตามธรรมชาติของแอมป์คลาสเอได้อย่างไม่มีปัญหา ลองคิดดู ในสภาวะสงบก็กินพลังงาน 170 วัตต์แล้ว แล้วถ้าหากป้อนสัญญาณเสียงเข้าไป จะขนาดไหน
 ในเรื่องของซุ้มเสียงของ Accuphase E560 ทางผู้เขียนก็ยังไม่เคยได้สดับรับฟังด้วยหูของตัวเองและก็คงไม่มีโอกาส ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่ของผู้อ่านจะต้องเสาะหาฟังกันเองละครับ




ที่มา : Accuphase